ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับสมาคม

ข้อบังคับ

ของ

สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง

สมาคมการค้านี้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ.2509 และอยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร

หมวดที่ ๑
ความทั่วไป

ข้อ ๑. ชื่อของสมาคม สมาคมนี้มีชื่อเรียกภาษาไทยว่า “ สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง ” เขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “ASIA AND MIDDLE EAST EXPORTER TRADE ASSOCIATION” ตัวย่อว่า AMEE คำว่า “สมาคม” ต่อไปในข้อบังคับนี้ให้หมายความถึง “ สมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง”

ข้อ ๒. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 919 ซอยอ่อนนุช 39 ถนนสุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250

ข้อ ๓. ตราของสมาคม มีเครื่องหมายดังรูปนี้

ข้อ ๔. สมาคมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ 

๔.๑ ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออกสินค้า เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำหรับเด็ก หมวกทุกประเภท อัญมณีและเครื่องประดับทุกประเภท ถังเก็บน้ำแสตนเลส ตะแกรงตักท่อน้ำ ภาชนะและอุปกรณ์เครื่องครัวแสตนเลส ฯลฯ 

๔.๒ สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกแก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับบุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุประสงค์ สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศเกี่ยวกับสินค้าที่สมาชิกประกอบวิสาหกิจเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การค้า การเงิน เศรษฐกิจ หรือความมั่นคงของประเทศ 

๔.๓ ทำการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุประสงค์แลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ความรู้ในทางวิชาการ ตลอดจนข่าวสารการค้าอันเกี่ยวกับการวิสาหกิจนั้นๆ ๔.๔ ขอสถิติ หรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใดๆ จากสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ด้วยความยินยอมของสมาชิก 

๔.๕ ส่งเสริมคุณภาพของสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่าย โดยผู้ประกอบวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกให้เข้ามาตรฐาน ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงวิธีการผลิตและการค้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น 

๔.๖ ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรม การเงินหรือธุรกิจอื่นใดในทางเศรษฐกิจอันอยู่ในวัตถุประสงค์ 

๔.๗ ส่งเสริมการผลิต เพื่อให้สินค้ามีปริมาณเพียงพอกับความต้องการแก่ความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ 

๔.๘ ทำความตกลง หรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจประเภทที่อยู่ในวัตถุประสงค์ได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย 

๔.๙ ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอก ในการประกอบวิสาหกิจ 

๔.๑๐ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งโต๊ะบิลเลียด หรือโต๊ะสนุกเกอร์

หมวดที่ ๒
สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ ๕. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมการค้าแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท มีคุณสมบัติดังนี้
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับการผลิตและการส่งออก ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
๕.๒ สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ นิติบุคคลที่ประกอบวิสาหกิจในทางการค้า อุตสาหกรรม หรือการเงิน อันเกี่ยวเนื่องและไม่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและการส่งออก ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
๕.๓ สมาชิกสมทบ ได้แก่ บุคคลธรรมดา สถาบันการศึกษา และสมาคมอื่น ๆ ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออก ซึ่งได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
๕.๔ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นผู้ที่มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และผู้นั้นตอบรับคำเชิญ

ข้อ ๖. คุณสมบัติของสมาชิก สมาชิกของสมาคมการค้านอกจากคุณสมบัติข้อ 5 แล้ว ยังต้องประกอบด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๖.๑ ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา
๑. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
๒. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย บุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
๓. ไม่เคยเป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล ให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดซึ่งกระทำโดยประมาท
๔. ไม่เป็นโรคอันพึงรังเกียรติแก่สังคม
๕. เป็นผู้มีฐานะมั่นคงพอสมควร
๖. เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๒ ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล
๑. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
๒. มีฐานะมั่นคงพอสมควร
ให้นำความในข้อ ๖.๑ มาบังคับใช้แก่คุณสมบัติของผู้แทนนิติบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลที่เป็นสมาชิกตามข้อ ๑๐ ด้วย

ข้อ ๗. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม จะต้องยื่นความจำนงต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการตามแบบพิมพ์ที่สมาคมได้กำหนดไว้ โดยมีสมาชิกสามัญเป็นผู้รับรองอย่างน้อย 2 คน

ข้อ ๘. การพิจารณาคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ นำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการในคราวต่อไป หลังจากที่ได้รับใบสมัคร เมื่อคณะกรรมการมีมติให้รับหรือไม่รับผู้ใดเข้าเป็นสมาชิก ให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งผู้นั้นทราบภายใน ๗ วัน นับแต่วันลงมติ

ข้อ ๙. วันเริ่มสมาชิกภาพ สมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้สมาคมชำระค่าลงทะเบียนการเป็นสมาชิก และค่าบำรุงประจำปีของสมาคมเรียบร้อยแล้ว

ข้อ ๑๐. สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล ต้องแต่งตั้งผู้แทนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีอำนาจกระทำกิจการแทนนิติบุคคลนั้นได้ไม่เกิน ๒ คน เพื่อปฏิบัติการในหน้าที่ และใช้สิทธิแทนนิติบุคคลนั้นได้ เพียงเท่าที่สมาชิกบุคคลธรรมดาประเภทเดียวกันนั้นจะพึงมีในการนี้ ผู้แทนจะมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทนหรือแต่งตั้งตัวแทนช่วยมิได้

ข้อ ๑๑. การขาดจากสมาชิกภาพ สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
๑๑.๑ ตาย หรือ สิ้นสภาพนิติบุคคล
๑๑.๒ ขาดคุณสมบัติตามข้อ ๕
๑๑.๓ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการเห็นชอบ
๑๑.๔ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย
๑๑.๕ ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
๑๑.๖ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เว้นแต่วามผิดลหุโทษ หรือความผิดที่อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
๑๑.๗ คณะกรรมการลงมติให้ลบชื่ออกจากทะเบียนสมาชิก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
๑. กระทำการใดๆ ที่ทำให้สมาคมเสื่อมเสียชื่อเสียงโดยเจตนา
๒. กระทำการละเมิดข้อบังคับโดยเจตนา
๓. ไม่ชำระเงินค่าบำรุงประจำปี และได้รับใบเตือนจากเจ้าหน้าที่ครบ ๓๐ วันแล้ว

ข้อ ๑๒. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิกเก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม โดยอย่างน้อยมีรายการดังต่อไปนี้
๑๒.๑ ชื่อ และ สัญชาติของสมาชิก
๑๒.๒ ชื่อที่ใช้ในการประกอบวิสาหกิจ และประเภทของวิสาหกิจ
๑๒.๓ ที่ตั้งสำนักงานของสมาชิก
๑๒.๔ วันที่เข้าเป็นสมาชิก

หมวดที่ ๓
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

ข้อ ๑๓. สิทธิของสมาชิก
๑๓.๑ ได้รับความช่วยเหลือและการสงเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม จากสมาคมเท่าที่จะอำนวยได้
๑๓.๒ เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการในเรื่องใด ๆ อันอยู่ในวัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคม
๑๓.๓ ขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการ
๑๓.๔ เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดง ความคิดเห็น ซักถามกรรมการ เสนอญัตติในการประชุมใหญ่สมาชิก
๑๓.๕ มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคม
๑๓.๖ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิในการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ

ข้อ ๑๔. หน้าที่ของสมาชิก
๑๔.๑ ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่ มติของคณะกรรมการ และหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากสมาคมด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
๑๔.๒ ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้เสียของสมาคม ตลอดจนต้องรักษาความลับในข้อประชุมหรือวิธีการของสมาคม ไม่เปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมโดยเด็จขาด
๑๔.๓ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมให้เจริญรุ่งเรือง และมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ
๑๔.๔ ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีธรรมระหว่างสมาชิกและปฏิบัติกิจการการค้าในทำนองช่วยเหลือกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
๑๔.๕ ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมตามกำหนด
๑๔.๖ สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขาธิการสมาคมทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา ๗ วันนับแต่เปลี่ยนแปลง

หมวดที่ ๔
ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงสมาคม

ข้อ ๑๕. ค่าลงทะเบียนเข้าเป็นสมาชิก และค่าบำรุงสมาคม
๑๕.๑ สมาชิกสามัญ จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ปีละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท)
๑๕.๒ สมาชิกวิสามัญ จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาท) และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ปีละ 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาท)
๑๕.๓ สมาชิกสมทบ จะต้องชำระค่าลงทะเบียน 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาท) และค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ปีละ 1,500 บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาท)
๑๕.๔ หากสมาชิกไม่ชำระค่าบำรุงรายปี จะพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกสมาคม
๑๕.๕ สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าลงทะเบียนหรือค่าบำรุงอย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ ๑๖. ค่าบำรุงพิเศษ สมาคมอาจเรียกเก็บค่าบำรุงพิเศษจำนวนเท่าใดจากสมาชิกได้เป็นครั้งคราว โดยที่ประชุมใหญ่ลงมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด​

หมวดที่ ๕
คณะกรรมการของสมาคม

ข้อ ๑๗. ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม และเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ประกอบด้วยสมาชิกสามัญ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ มีจำนวนไม่น้อยกว่า ๙ คน และไม่เกิน ๒๕ คน
เว้นแต่ในที่ประชุมใหญ่ครั้งนั้นๆ จำมีมติเป็นอย่างอื่น การเลือกตั้งกรรมการให้กระทำด้วยวิธีลงคะแนนลับ โดยให้สมาชิกสามัญเสนอชื่อของสมาชิกสามัญซึ่งตนประสงค์จะให้เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการต่อที่ประชุมใหญ่ โดยมีสมาชิกสามัญอื่นรับรองไม่น้อยกวา ๒ คน แล้วในที่ประชุมใหญ่ลงมติเลือกตั้ง ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงตาลำดับได้เป็นกรรมการตามจำนวนที่กำหนดไว้ในวรรคตอนแรก และตามมติที่ประชุมใหญ่ในครั้งนั้นๆ ถ้ามีผู้ได้คะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้ายที่จะได้เป็นกรรมการคราวนั้น ให้ที่ประชุมลงมติใหม่เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน หากปรากฏว่าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีการจับฉลาก
ให้คณะกรรมการเลือกตั้งกันเองเพื่อดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ๑ คน อุปนายก ๒ คน เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม ประชาสัมพันธ์ ตำแหน่งละ ๑ คน และตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสมด้วยเห็นชอบของคณะกรรมการที่ได้กำหนดหน้าที่ตามที่เห็นสมควร
คณะกรรมการของสมาคม อยู่ในตำแหน่งกรรมการได้คราวละ ๒ ปี และให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ขึ้นภายใน ๑๘๐ วัน
ภายใต้บังคับของมาตรา ๑๙ และ ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ กรรมการที่พ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้ว อาจได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการอีกก็ได้

ข้อ ๑๘. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
๑๘.๑ ครบกำหนดออกตามวาระ
๑๘.๒ ลาออก โดยคณะกรรมการได้ลงมติอนุมัติแล้ว เว้นแต่การลาออกเฉพาะตำแหน่งตามข้อ ๑๗ วรรค ๓
๑๘.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ
๑๘.๔ ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการ
๑๘.๕ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้ออกตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙
๑๘.๖ ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ ในกรณีที่ผู้แทนสมาชิกซึ่งเป็นนิติบุคคลตามข้อ ๑๐ ที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง ตาย หรือพ้นจากตำแหน่งผู้แทนของสมาชิกนั้น ผู้แทนคนใหม่ของสมาชิกรายนั้นๆ จะเข้าเป็นกรรมการแทนก็ได้

ข้อ ๑๙. กรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการก่อนครบกำหนดออกตามวาระ คณะกรรมการอาจตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้ให้เป็นกรรมการอยู่ได้ตามวาระของผู้ที่ตนแทน
กรณีคณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดออกตามวาระ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งนั้นดำเนินการจัดประชุมใหญ่สมาชิก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นแทนภายใน ๑๘๐ วัน ในกรณีนี้ให้นำความใน ข้อ ๒๔. มาบังคับใช้โดยอนุโลม
คณะกรรมการซึ่งได้จากการเลือกตั้งวรรคก่อน อยู่ในตำแหน่งได้ตามวาระของคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งไป

ข้อ ๒๐. องค์ประชุมในการประชุมของคณะกรรมการ การประชุมของคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงนับว่าเป็นองค์ประชุม
ในกรณีที่มีจำนวนกรรมการในคณะกรรมการน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด กรรมการที่เหลืออยู่ย่อมทำกิจการได้เฉพาะแต่ในเรื่องที่ตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นให้ครบจำนวน หรือนัดเรียกประชุมใหญ่ หรือกระทำกิจการอันสมควรทุกอย่าง เพื่อปกป้องรักษาประโยชน์ของสมาคมเท่านั้น

ข้อ ๒๑. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงในการลงคะแนน ถ้าเสียงคะแนนเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเสียงชี้ขาด
ในกรณีที่ ที่ประชุมคณะกรรมการลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับสมาคม ให้ถือว่ามตินั้นใช้บังคับมิได้

ข้อ ๒๒. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกผู้อาวุโสตามลำดับปฏิบัติหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้มีประชุมเลือกกรรมการคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะในการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๒๓. การประชุมคณะกรรมการให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อยสามเดือนต่อครั้ง อนึ่ง ในกรณีจำเป็นนายกสมาคมหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่าห้าคน จะเรียกประชุมพิเศษขึ้นได้

ข้อ ๒๔. การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ เมื่อมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่ง ยื่นจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนสมาคมกาค้าประจำกรุงเทพมหานครภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันเลือกตั้งและส่งมอบหน้าที่ให้คณะกรรมการชุดใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าฯรับจดทะเบียน
ในกรณีทีนายทะเบียนสมาคมการค้าฯยังมิได้รับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งยังมิได้ส่งมอบหน้าที่ตามวรรคแรก ให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งนั้นมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมต่อไปจนกว่านายทะเบียนสมาคมการค้าฯจะรับจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ และคณะกรรมการชุดใหม่นั้นเข้ารับหน้าที่แล้ว การมอบหน้าที่ให้กระทำเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ ๒๕. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มีดังนี้
๑. จัดดำเนินกิจการและทรัพย์สินของสมาคม ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
๒. ตั้งคณะกรรมการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆให้คณะกรรมการ
๓. วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุที่ประสงค์
๔. ว่าจ้าง แต่งตั้ง และถอดถอน ที่ปรึกษาของคณะกรรมการ อนุกรรม เจ้าหน้าที่และพนักงานทั้งปวง ในการทำกิจการของสมาคมเป็นไปโดยเรียบร้อย ที่ปรึกษาของคณะกรรมการและอนุกรรมการดังกล่าวจะแต่งตั้งจากกรรมการหรือสมาชิกสมาคมหรือบุคคลภายนอกก็ได้

ข้อ ๒๖. อำนาจหน้าที่กรรมการตำแหน่งต่างๆมีดังนี้
๑. นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติของสมาคม เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้ดำเนินการกิจการของสมาคม อันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ ตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
๒. อุปนายก มีหน้าที่ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวง อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคม และเป็นผู้ทำหน้าที่แทนนายาสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
๓. เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ เก็บรักษาเอกสารต่างๆของสมาคมเป็นเลขานุการในที่ประชุมคณะกรรมการที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการได้รับมอบหมาย
๔. เหรัญญิก มีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงินเก็บรักษาตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการได้รับมอบหมาย
๕. นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิกและทะเบียนต่างๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
๖. ปฏิคม มีหน้าที่รักษาสำนักงานของสมาคม รักษาความเรียบร้อยของสถานที่ รักษาสมุดจัดสถานที่ประชุม ดูแลต้อนรับ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย
๗. ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเชิญชวนหาสมาชิก โฆษณากิจการและผลงานด้านต่างๆของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการจะได้มอบหมาย

ข้อ ๒๗. ภายใต้บังคับแห่งความในหมวดนี้ ให้นำความในหมวดที่ ๗ การประชุมใหญ่มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวดที่ ๖
การประชุมใหญ่

ข้อ ๒๘. การประชุมใหญ่ ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกอย่างน้อยทุกระยะเวลา ๑๒ เดือน การประชุมเช่นนี้ เรียกว่า การประชุมใหญ่สามัญ การประชุมใหญ่คราวอื่นนอกจากประชุมให้เรียกว่า การประชุมวิสามัญ

ข้อ ๒๙. การกำหนดการประชุมใหญ่
๑. ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ภายในกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่สิ้นปีการบัญชีของสมาคมเป็นประจำทุกๆปี
๒. ถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งซึ่งคณะกรรมการมีมติเห็นสมควรหรือสมาชิกมีจำนวนไม่น้อยกว่า หนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดแสดงความจำนงโดยทำการร้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรยื่นต่อเลขาธิการ หรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขานุการ ให้คณะกรรมการนัดประชุมใหญ่วิสามัญกำหนดภายใน ๑๕ วันนับแต่วันที่ได้ลงมติหรือวันที่ได้รับหนังสือ

ข้อ ๓๐. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม คณะกรรมการจะต้องส่งหนังสือบอกกล่าวถึงวันเวลา สถานที่ และระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไปให้สมาชิกทุกคนได้รับทราบโดยส่งจดหมายทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏขึ้นอยู่ในทะเบียน หรือส่งให้ถึงตัวสมาชิกก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่า ๗ วัน
การจัดส่งหนังสือบอกกล่าวตามวรรคแรก ให้ส่งเสาเนาการประชุมครั้งที่แล้ว(ถ้ามี)ไปด้วย ในกรณีที่เป็นการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแนบสำเนารายงานประจำปีและสำเนางบดุล รวมทั้งสำเนาบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้วเพิ่มเติมไปด้วย

ข้อ ๓๑. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ ในการประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมดจึงจะถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๓๒. กรณีการประชุมในครั้งแรกสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม หากล่วงพ้นกำหนดเวลานัดไปแล้วหนึ่งชั่วโมงยังมีสมาชิกมาไม่ครบองค์ประชุม ถ้าการประชุมใหญ่คราวนั้น ได้เรียกนัดเพราะสมาชิกร้องขอ ให้เลิกการประชุมใหญ่นั้น ถ้าไม่ใช่เพราะสมาชิกร้องขอ ให้เลื่อนการประชุมและให้ทำการบอกกล่าวนัดประชุม วัน เวลา และประชุมใหญ่นี้อีกครั้งหนึ่งภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน นับแต่วันประชุมใหญ่คราวแรก ในการประชุมใหญ่คราวหลังนี้จะมีสมาชิกมามากน้อยเพียงใดก็ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุม

ข้อ ๓๓. ประธานในที่ประชุม ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกอาวุโสตามลำดับทำหน้าที่แทน ถ้าทั้งนายกสมาคมและอุปนายกไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการคนหนึ่งคนใดขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีกรรมการอยู่ในที่ประชุมเลยก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น

ข้อ ๓๔. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญคนหนึ่งๆมีคะแนนเสียงหนึ่งเสียง
ในการประชุมใหญ่ใดๆข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนน ให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ หรือวิธีการอื่นใดเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิกสามัญสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ลงคะแนนลับ

ข้อ ๓๕. มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการชูมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนเสียงอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ ๒๖. กิจกรรมอันพึงกระทำในที่ประชุมใหญ่ มีดังนี้
๑. รับรองรายงานการประชุมใหญ่คราวก่อน
๒. พิจารณารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสมาคมปีที่ผ่านมาในรอบปี(ถ้ามี)
๓. พิจารณาอนุมัติงบดุล (ถ้ามี)
๔. เลือกตั้งคณะกรรมการ(ในปีที่ครบวาระ)
๕. เลือกตั้งที่ปรึกษาของสมาคมประจำปี ผู้สอบบัญชีของสมาคมประจำปี และกำหนดค่าตอบแทน(ถ้ามี)
๖. กิจกรรมที่ต้องกระทำโดยอาศัยมติจากที่ประชุมใหญ่

ข้อ ๓๗. กิจการอันพึงกระทำในการประชุมสมาชิกประจำเดือน ได้แก่ กิจกรรมอันเกี่ยวกับการปฏิบัติธุรกิจทั่วไปของสมาคม นอกจากกิจการที่จำเป็นต้องกระทำโดยการประชุมใหญ่สามัญประจำปีหรือประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ ๓๘. การจัดทำรายงานบันทึกประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการ การประชุมใหญ่ การประชุมสมาชิกอื่นๆ และการประชุมอนุกรรมการ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้ง และเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้วสมาชิกจะดูได้ในวันและเวลาทำการ

หมวดที่ ๗
การเงิน เงินทุนพิเศษ และการบัญชีของสมาคม

ข้อ ๓๙. วันสิ้นปีทางบัญชี ให้ถือเอาวันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมการค้า

ข้อ ๔๐. การจัดทำงบดุล ให้คณะกรรมการจัดทำงบดุลที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้นแล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนวันประชุมใหญ่ประจำปีไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน
งบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญเพื่อพิจารณาอนุมัติ ภายในหนึ่ง ๑๒๐ วันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี เมื่อเสนองบดุลให้คณะกรรมการเสนอรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมต่อที่ประชุมด้วย
ให้สมาคมส่งสำเนารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร ภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่มีการประชุมใหญ่
อนึ่ง ให้เก็บรักษารายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสมาคมกับงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคม เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

ข้อ ๔๑. อำนาจของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสรรพสมุด บัญชีและบรรดาเอกสารเกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือและให้ความสะดวกทุกประการเพื่อการสอบเช่นว่านั้น

ข้อ ๔๒. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของสมาคมและให้อยู่นความดูแลรับผิดชอบเหรัญญิก

ข้อ ๔๓. การเงินของสมาคม เงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตห้องที่จังหวัดซึ่งสมาคมนี้ตั้งอยู่ในนามของสมาคมโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่
ให้มีเงินทดรองจ่ายเกี่ยวกับกิจการของสมาคมไม่เกินวงเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ในการนี้เหรัญญิก เป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษาตัวเงิน
การฝากและการถอนเงินจากธนาคาร ให้อยู่ในอำนาจของนายกสมาคมหรืออุปนายก หรือ กรรมการคนใดคนหนึ่งโดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการลงนามร่วมกับเหรัญญิก

ข้อ ๔๔. การจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคม อุปนายก หรือเลขาธิการคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจสั่งจ่ายเงินเกี่ยวกับกิจการของสมาคมได้ครั้งล่ะไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
ในการจ่ายเงินครั้งละเกินกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้กระทำโดยมติจากที่ประชุมคณะกรรมการทุกครั้งไป

ข้อ ๔๕. เงินทุนพิเศษ สมาคมอาจหาเงินทุนพิเศษเพื่อมาดำเนินกิจการและส่งเสริมความก้าวหน้าของสมาคมได้ โดยการเชื้อเชิญบุคคลภายนอก และสมาชิกร่วมกันบริจาคหรือการกระทำการอื่นใด ตามที่คณะกรรมการเป็นสมควรและไม่ขัดต่อกฎหมาย

หมวดที่ ๘
การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ ๔๘. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด

ข้อ ๔๗. การเลิกสมาคม สมาคมนี้อาจเลิกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
๑. เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุมทั้งหมด
๒. เมื่อล้มเหลว
๓. เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เลิกตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๙๐

ข้อ ๔๘. การชำระบัญชี เมื่อสมาคมนี้ต้องเลิกไปเพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวในข้อ ๔๗ การชำระบัญชีของสมาคมให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. ๒๕๐๙ มาใช้บังคับ
ในกรณีที่สมาคมต้องเลิกไปตามข้อ ๔๗(๓) ให้กรรมการทุกคนในคณะกรรมการชุดสุดท้ายที่ได้จดทะเบียนเป็นกรรมการต่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ชำระบัญชี
หากมีทรัพย์สินของสมาคมเหลือจากการชำระบัญชีให้ยกให้แก่นิติบุคคลในประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกุศลสาธารณะแห่งหนึ่งแห่งใดหรือหลายแห่งตามมติที่ประชุมใหญ่

หมวดที่ ๙
การแก้ไขข้อบังคับ การเลิกสมาคม และการชำระบัญชี

ข้อ ๔๙. เมื่อนายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมแล้ว ให้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคนทำหน้าที่คณะกรรมการ(ชั่วคราว)จนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับนี้ ซึ่งจะต้องจัดให้มีขึ้นภายในกำหนดเวลา ๑๒๐ วันนับแต่วันที่อนุญาตให้จัดตั้งสมาคมแล้ว
ภายใต้บังคับแห่งความในวรรคแรก กรณีที่มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการชุดแรกในช่วงเวลาน้อยกว่า สามเดือน นับแต่ทางสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม ให้ถือเอาวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคมเป็นวันตั้งต้นคำนวณวาระกรรมการตามข้อ ๑๗ วรรค ๔

ข้อ ๕๐. เพื่อประโยชน์ในข้อบังคับข้อ ๗ ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งทุกคน ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสามัญ

ข้อ ๕๑. ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสมาคมการค้าประจำกรุงเทพมหานคร ได้อนุญาตให้จัดตั้งเป็นสมาคมเป็นต้นไป